สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่  ตั้งอยู่ที่  อาคารศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือ  เลขที่ 230  หมู่1  ตำบลช้างเผือก  อำเภอเมืองเชียงใหม่  จังหวัดเชียงใหม่  50300  โทรศัพท์ 0 5207 2711-2  
06/06/2017
ขอสนับสนุนงบกลางเพื่อดำเนินงานโครงการโคบาลบูรพา

สรุปประเด็นข้อเสนอและความคิดเห็นประเด็นสำคัญของมติ
 
คณะรัฐมนตรีมีมติ
               ๑. เห็นชอบในหลักการแนวทางการดำเนินงานโครงการโคบาลบูรพาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเป็นการส่งเสริมปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมไปเลี้ยงปศุสัตว์ (โคเนื้อและแพะ) ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มีเป้าหมายเพื่อให้มีการเลี้ยงแม่โคเนื้อ รวม ๑๒๐,๐๐๐ ตัว และแพะพันธุ์ดี ๒๗,๒๐๐ ตัว รวมทั้งปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนการปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตต่ำ รวม ๑๐๓,๘๒๓ ไร่ ภายในระยะเวลาโครงการ ๖ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๕) ผ่านการสนับสนุนของภาครัฐ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ แล้ว ภายในกรอบวงเงิน ๙๗๐.๕๐ ล้านบาท ที่ครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก กิจกรรมส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ และกิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์เฉพาะในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูกและเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
               ๒. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาทิ การกู้ยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ร่วมในการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. ๒๕๕๔ และควรให้มีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่อง ควรจัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้ที่จำเป็น มีการกำหนดแผนการติดตาม กำกับดูแล ประเมินผลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตลอดโครงการ ควรพิจารณาการสนับสนุนเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยตามความจำเป็น ความเหมาะสม และความสามารถในการชำระเงินกู้ยืมของเกษตรกรเพื่อมิให้เป็นภาระภาครัฐ และควรมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้องค์การการค้าโลก ควรมีกระบวนการหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการที่เหมาะสมและเป็นธรรม และควรมีการติดตามประเมินผลโครงการดังกล่าวในลักษณะถอดบทเรียน (Best Practice) ว่าประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
               ๓. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมด้วย ดังนี้
                   ๓.๑ เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการให้ชัดเจนและทั่วถึงเพื่อให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่เกิดความล่าช้าและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการด้วย
                   ๓.๒ ในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ควรพิจารณาเลือกเกษตรกรที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน (เช่น โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ และโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า) เป็นลำดับแรก และควรให้คำปรึกษาแนะนำเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนอาชีพอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปริมาณความต้องการโคเนื้อและแพะของตลาดและจัดหาตลาดสำหรับจำหน่ายโคเนื้อและแพะของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนอาชีพตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และเกิดความเชื่อมั่นต่อโครงการในลักษณะดังกล่าวของภาครัฐ

Copyright 2014, สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่.
All rights are reserved. Read Privacy Policy. Created by Chiangmai Webdesign